วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วีดีโอโปรโมตตัวแรก


วีดีโอโปรโมตตัวแรกของบล็อก ถ้าชอบก็ช่วยเผยแพร่กันด้วยนะครับ หุหุ

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

มารู้จักกับ VCD, SVCD, DVD, Blu-ray

แรกเริ่มเดิมทีนั้น เราดูหนังกันแบบม้วนวีดีโอ แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป.. เพราะวันนี้ดูหนังกันเป็นแผ่นไม่ใช่เป็นม้วนแล้ว เราเห็นเรารู้แค่ว่า DVD ภาพมันชัดกว่า VCD และราคาก็แพงกว่า แถมมีทั้ง DVD5 , DVD9 อีก แล้วไอ้ SVCD นี่ บางคนอาจไม่รู้จัก มันคืออะไรกันเหรอ และถ้าเราอยากจะทำมันขึ้นมาเผยแพร่งานตัวเองบ้าง จะโอเครึเปล่า? เรามาดูกันทีละอย่างดีกว่า

VCD (Video Compact Disc)

เป็นแผ่นหนังจากแผ่น CD ธรรมดา ตอนที่เขาสร้างมันขึ้นมานั้น เพียงเพราะใช้ในการเก็บข้อมูลและเป็นแผ่นเพลงแทนเทปคลาสเซ็ต ต่อมาเห็นว่ามันก็เอามาดูหนังได้ แต่ด้วยความจำกัดเรื่องเนื้อที่อันน้อยนิดของมัน จึงทำให้หนังหนึ่งเรื่องต้องมี 2-3 แผ่น แถมความคมชัดของภาพก็สู้วีดีโอม้วนเทปไม่ได้อีก คุณภาพแค่พอดูได้เท่านั้น แต่ก็ยังถือเป็นการก้าวข้ามจากระบบแอนะล็อคมาดิจิตอล ก็เลยเป็นที่นิยม เนื่องด้วยขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถดูในคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย (ในยุคนั้นถ้าจะซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ ต้องพิจารณากันว่า ดูหนังได้รึเปล่า? กันเลยทีเดียว)





ข้อมูลทางเทคนิคของ VCD

Video format  MPEG-1 / CBR
Bit rate 1.15 Mbps
resolution PAL 352x288 / NTSC 352x240
Audio format MPEG-1 Layer II
Audio bit rate 224 kbps


เนื่องจาก Bit rate ที่ต่ำมากของวีซีดี ทำให้ค่าความละเอียดต้องต่ำลงด้วย ฉะนั้นถ้าดูในโทรทัศน์จอเล็กๆ ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าดูในจอใหญ่ๆ จะเห็นความแตกเป็นเหลี่ยมผสมภาพเบลอมัว ดูแล้วหมดอารมณ์ในทันที แต่ด้วยราคาที่ถูกของมัน จึงยังเป็นที่นิยมอยู่อย่างแพร่หลาย หากคุณคิดจะทำวีดีโอของคุณเป็นวีซีดีแล้ว ต้องยอมรับก่อนว่าคุณภาพที่ได้นั้นน้อย ซึ่งในยุคนี้ขอให้มองผ่านมันไปเลย และไม่ต้องสนใจ เพราะถือเป็นสิ่งตกยุคไปแล้ว

 SVCD (Super Video Compact Disc)

ก็เป็นแผ่น CD ธรรมดาอีกแหล่ะ แต่ด้วยความทนไม่ได้ (ของใครไม่รู้) กับภาพห่วยๆ ของ VCD จึงได้ก่อเกิด SVCD ขึ้นมา มีความคมชัดของภาพและเสียงอยู่ระหว่างกึ่งกลางของ VCD และ DVD และเนื่องด้วยภาพและเสียงที่มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้เนื้อที่เลยใหญ่ตามไปด้วย ฉะนั้น หนังเรื่องหนึ่งอาจใช้ 3-4 แผ่นก็เป็นได้ แต่แผ่น SVCD นี้ไม่ค่อยได้แพร่หลายนัก ฉะนั้นเราจึงไม่ได้เห็นแผ่นแบบนี้วางขายกันนั่นเอง แต่เราก็ทำมันขึ้นมาเองได้

ข้อมูลทางเทคนิคของ SVCD

Video format MPEG-2 / CBR or VBR
Bit rate upto 2.6 Mbps
resolution PAL 480x576 / NTSC 480x480
Audio format MPEG-1 Layer II
Audio bit rate 32 - 384 kbps


สื่อนี้สามารถเล่นได้ในเครื่องเล่น VCD ที่เขียนไว้ว่าเล่น SVCD ได้ หรือเครื่องเล่น DVD ก็ได้ สำหรับยุคนี้ก็ขอให้มองผ่านมันไปเช่นกัน

DVD ( Digital Versatile Disk หรือ Digital Video Disk)

ทุกคนคงรู้จักดีแล้ว กับแผ่นที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับความจุได้มากขึ้น หน้าตามันก็เหมือนกับ CD แต่เทคโนโลยีมันต่างกัน ทำให้ความคมชัดและเสียงดีกว่าเดิมมากๆ ส่วน DVD5, 9 มันต่างกันตรงความจุ ซึ่ง DVD9 จะจุได้มากกว่า ทำให้เขาใส่ไฟล์หนังที่ใหญ่กว่า ชัดกว่าลงไปได้ พูดง่ายๆ ก็คือชัดกว่า DVD5 นั่นเอง ราคาก็แพงไปด้วย


ข้อมูลทางเทคนิคของ DVD (DVD Movie)

Video format MPEG-2 / CBR or VBR
Bit rate upto 9.8 Mbps
resolution PAL 720x576 / NTSC 720x480
Audio format MPEG-1 or MPEG-2
Audio bit rate 32 - 384 kbps


ด้วยเนื้อที่ที่มากเหลือเฟือของแผ่นดีวีดี ทำให้สามารถทำ Motion Menu ใส่เสียงเอ็ฟเฟกต์ตอนเริ่มแผ่นได้ (จริงๆ VCD และ SVCD ก็ทำได้อ่ะแหล่ะ อยู่ที่โปรแกรมใช้งาน) ทำทุกอย่างเหมือนหนังที่คุณซื้อมาดูได้เลยล่ะ (ถ้าขยันพอ) ทั้งยังทำระบบเสียง 5.1 , Dolby Digital ได้อีก ยังไม่พอ ยังทำ Subtite และระบบเสียงหลายภาษาได้อีกด้วย  สำหรับยุคนี้ก็ยังไม่สายที่จะทำสื่อชนิดนี้เผยแพร่ เพราะจัดว่าเป็นขั้นต่ำและยังเป็นที่นิยมแพร่หลายกันอยู่มาก แม้จะมีแผ่น Blu-ray มาแทนที่ DVD แล้วก็ตาม แต่กลับเป็นที่นิยมน้อย และน้อยคนมากๆ ที่จะมีเครื่องอ่านแผ่น Blu-ray

Blu-ray

เป็นแผ่นที่หน้าตาและขนาดเหมือน DVD เป๊ะ แต่ทว่ามีความจุมากกว่าหลายเท่า (แผ่นบลูเรย์มีความจุสูงสุดประมาณ 50 GB) จึงสามารถใส่ข้อมูลลงไปได้เยอะ จึงสามารถใส่ไฟล์ภาพยนตร์ประเภท Hi-Def หรือ High Definition วีดีโอความละเอียดสูงลงไปในแผ่นได้ ทั้งยังใส่ภาพในระบบ 3 มิติลงไปได้อีกด้วย แรกทีเดียวเป็นคู่แข่งกัดกันมากับ HD-DVD แต่ก็เอาชนะมาได้ ก็เลยเป็นที่นิยมของตลาด ณ ปัจจุบัน

แม้จะมีความคมชัดของภาพและเสียงแค่ไหน แต่ก็ยังเป็นที่นิยมน้อยกว่า DVD อยู่นั่นเอง อาจเพราะเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์นั้นมีราคาสูง อีกทั้งไดรว์อ่านแผ่นบลูเรย์ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ก็ยังมีราคาค่อนข้างแพงอยู่ ทำให้ไม่มีใครซื้อใช้ ประกอบกับมีการตีตลาดจากเครื่อง Harddisk player (เครื่องเล่นไฟล์ภาพยนตร์จากฮาร์ดดิสค์หรือแฟลชไดรว์) ซึ่งสามารถดูไฟล์ภาพยนตร์แบบ Hi-Def ได้เช่นกัน และมีราคาถูกกว่า ทั้งไม่ต้องซื้อแผ่นภาพยนตร์บลูเรย์ซึ่งแผ่นหนึ่งมีราคาหลายร้อยไปจนถึงหลักพัน แต่สามารถหาดาวน์โหลดไฟล์หนังจากอินเตอร์เน็ตมาดูได้ง่าย  (แถมโทรทัศน์สมัยนี้แค่เสียบแฟลชไดรว์ก็เลือกดูไฟล์วีดีโอได้เลยอีกต่างหาก) เราจึงไม่ต้องสนใจทำไฟล์วีดีโอตามมาตรฐานเครื่องเล่นบลูเรย์อีกต่อไป แค่ทำให้ตรงตามมาตรฐานความละเอียดแบบ HD, Full HD ก็พอ

ปัจจุบันมีความละเอียดระดับ UHD หรือ Ultra HD แล้ว แต่ทว่ายังเป็นเทคโนโลยีใหม่ และมีราคาสูงอยู่ จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ก็เหมือนกับ HD ตอนออกใหม่ๆ บรรดาทีวีและกล้องวีดีโอ HD ในตอนนั้นก็ยังแพงอยู่ อาจต้องรออีก 2-3 ปี กว่า UHD จะลงมาเท่ากับ HD ในตอนนี้

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พื้นฐานระบบวีดีโอที่ต้องรู้ 2

มาต่อกันเลย ในส่วนนี้จะค่อนข้างซับซ้อนขึ้นอีกนิด เหมาะสำหรับกระบวนการตัดต่อและพร้อมจะเรนเดอร์ออกมาเป็นผลงานแล้ว
  
การบีบอัด (Encode)

เนื่องจากกล้องถ่ายวีดีโอหรือกล้องที่ถ่ายวีดีโอได้ โดยเกือบทั้งหมดแล้วจะมีการบีบอัดมาจากตัวกล้องก่อนเสมอ นอกจากกล้องในระดับบนๆ ที่มีฟังก์ชั่นถ่ายออกมาเป็นไฟล์ดิบ (ไฟล์ RAW) ได้ ทั้งนี้เพราะการที่จะบันทึกเป็นไฟล์ดิบ จะต้องใช้พื้นที่จัดเก็บจำนวนมาก เพราะกล้องจะบันทึกทุกสิ่งที่กล้องเห็นโดยไม่ผ่านการตัดข้อมูลบางส่วนออกเลย ดังนั้นกล้องในระดับทั่วไปจึงไม่มีฟังก์ชั่นนี้เพราะไม่จำเป็นกับผู้ใช้นั่นเอง


การบีบอัด คือการนำไฟล์ต้นฉบับมาแปลงรหัสวีดีโอใหม่ เพื่อลดขนาดไฟล์หรือเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้

ครานี้ พอมีการบีบอัด ก็ต้องมาทำความรู้จักกันอีก ว่าบีบอัด (Encode) ด้วยรหัส (Codec) อะไร และแต่ละแบบมันต่างกันอย่างไร (ขออธิบายเฉพาะอันที่ฮิตๆ กันนะ)

Codec (รหัสวีดีโอ)

DV AVI (AVI)
เป็น Codec ที่ใช้กับสมัยม้วนเทป MiniDV เมื่อ Capture จากม้วนเทปมาลงคอมพิวเตอร์แล้ว จะต้องใช้ไฟล์รหัสนี้ ซึ่งจะล็อคค่าต่างๆ ไว้โดยไม่สามารถแก้ไขได้ วีดีโอความยาว 1 ชั่วโมงจะใช้เนื้อที่ประมาณ 12 GB จะได้ไฟล์ AVI Resolution 720*576 ที่ 25 fps และ Bit rate ที่ 25 Mbps เสมอ แต่เดิมใช้ไฟล์นี้เป็นต้นฉบับในการตัดต่อก่อนเรนเดอร์ออกมาเป็น VCD, DVD

MPEG-1 (MPG)
เป็น Codec โบราณกาล ใช้ใน VCD ให้คุณภาพต่ำ ใช้เนื้อที่มาก ปัจจุบันไม่ควรใช้อย่างยิ่ง


MPEG-2 (M2V, MTS)
เป็น Codec ที่พัฒนาขึ้นมา ใช้ใน DVD และกล้อง HDV บางรุ่น ให้คุณภาพสูงขึ้น ใช้เนื้อที่ค่อนข้างมาก

MPEG-3 (MP3)
จะเป็นแต่ส่วนของเสียง ก็คือไฟล์ .mp3 ที่เป็นไฟล์เพลงที่เราฟังกันนั่นเอง ใช้เนื้อที่น้อยและมีคุณภาพดี (ขึ้นกับค่าบิตเรทด้วย)


MPEG-4
เป็น Codec  ที่มีหลายส่วนแยกกันพัฒนา ทำให้ได้ส่วนที่แตกย่อยไปอีก เช่น DivX, Xvid สำหรับส่วนที่เป็นเสียงก็มี m4a, AAC, mp4  ใช้เนื้อที่น้อยและมีคุณภาพดี (ขึ้นกับค่าบิตเรทด้วย)

H.264
จริงๆ แล้วเป็นส่วนที่พัฒนาต่อยอด แต่ยังอยู่ภายใต้ MPEG-4 เป็น Codec ล่าสุดที่มีประสิทธิภาพ ให้ภาพและเสียงที่มีคุณภาพสูงและใช้เนื้อที่น้อย

** Codec ที่ดี คือให้คุณภาพของภาพและเสียงที่ดี ในขณะที่ใช้ขนาดไฟล์น้อย
และ Codec ที่ซ้บซ้อนมาก จะใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ในการคำนวณมากขึ้นด้วย **

Container (นามสกุลไฟล์)

3GP
เป็นไฟล์จากโทรศัพท์มือถือระดับล่าง ให้คุณภาพต่ำ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทำอะไรนอกจากดูเล่น ไฟล์มักมีขนาดเล็ก

AVI
เป็นไฟล์วีดีโอมาตรฐานของ Microsoft  สามารถบีบอัดด้วย Codec ได้หลายแบบ  ไฟล์มีขนาดใหญ่ เหมาะที่จะเป็นไฟล์ต้นฉบับในการนำมาตัดต่อ แต่ไม่เหมาะในการเผยแพร่

MOV
เป็นไฟล์วีดีโอมาตรฐานของ Apple สามารถบีบอัดด้วย Codec ได้หลายแบบ ไฟล์มีขนาดใหญ่

WMV
เป็นไฟล์วีดีโอมาตรฐานของ Windows เช่นกัน นิยมใช้เผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีระบบ Streaming (คือโหลดไปดูไป ไม่จำเป็นต้องโหลดให้เสร็จทั้งหมดจึงดูได้) ปัจจุบันเหมือนจะเสื่อมความนิยมลงไป และอาจมีปัญหากับบางโปรแกรมที่ใช้งาน

MKV
เป็นไฟล์ที่คอดูหนังต้องรู้จักดี ไฟล์นี้มีคุณสมบัติที่สามารถบันทึกเสียงได้หลายแทร็ค รวมถึงซับไตเติ้ลได้อีกหลายภาษา รวมถึงยังคงคุณภาพที่ดีแม้จะใช้บิตเรทที่น้อย แต่เล่นได้ในบางเครื่องเท่านั้น จึงไม่เหมาะในการเผยแพร่ (นอกจากในวงการคอหนังเท่านั้น)

FLV
เป็นไฟล์ที่บีบอัดจากโปรแกรม Flash นิยมใช้ดูผ่านทางเว็บ เพราะมีเนื้อที่น้อย แต่คุณภาพก็ต่ำลงด้วยเช่นกัน มีระบบ Streaming (คือโหลดไปดูไป ไม่จำเป็นต้องโหลดให้เสร็จทั้งหมดจึงดูได้) 


ประเภทของการบีบอัด

การที่เราจะเจอประเภทของการบีบอัด ก็ต่อเมื่อเรากำลังจะ Export หรือ Render ไฟล์งานออกมาเป็นไฟล์วีดีโอ ซึ่งก็ต้องผ่านขั้นตอนการตัดต่อไปเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดมีดังนี้

CBR
เป็นการบีบอัดแบบ Constant Bitrate ซึ่งจะใช้ Bitrate เดียวกันตลอดช่วง

VBR
เป็นการบีบอัดแบบ Variable Bitrate จะใช้ Bitrate ไม่เท่ากัน แล้วแต่ช่วง สามารถเลือกได้ว่าจะให้โปรแกรมทำการบีบอัดกี่รอบ (คล้ายๆ อ่านหนังสือทบทวนหลายรอบเพื่อสรุปใจความสำคัญ) ยิ่งหลายรอบคุณภาพจะยิ่งดีกว่า แต่ก็จะเสียเวลาเพิ่มขึ้นมาก

ค่าบิตเรท (bit rate)

ค่าบิตเรทคือตัวกำหนดคุณภาพและขนาดไฟล์ของวีดีโอเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเลือการบีบอัดเป็นรหัสอะไร ก็ต้องกำหนดค่าบิตเรทเสมอ ค่าบิตเรทนี้จะต้องสัมพันธ์กับขนาดความละเอียดวีดีโอ (Resolution) ด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลดังนี้

ความละเอียดสูง บิตเรทต่ำ
จะทำให้วีดีโอภาพแตกเป็นเหลี่ยมๆ เนื่องจากค่าบิตเรทต่อหน่วยนั้นต่ำ

ความละเอียดสูง บิตเรทสูง
จะทำให้วีดีโอมีความชัดสวยงาม แต่มีขนาดไฟล์ใหญ่ (เป็นธรรมดาของโลก)

ความละเอียดต่ำ บิตเรทสูง
ถ้าดูด้วยหน้าจอที่มีความละเอียดสัมพันธ์กันก็คือชัด แต่ถ้าขยายขึ้นมามากๆ ภาพจะเบลอ ไม่ชัด และมีขนาดไฟล์ใหญ่เกินจำเป็นด้วย

ความละเอียดต่ำ บิตเรทต่ำ
ขึ้นอยู่กับว่าบิตเรทต่ำแค่ไหน ถ้าต่ำไม่มาก เมื่อดูในหน้าจอที่สัมพันธ์กับความละเอียดวีดีโอแล้วอาจดูชัดได้ ถ้าภาพมีการเคลื่อนไหวน้อย แต่ถ้าต่ำมากๆ ดูยังไงภาพก็เละ

ฉะนั้นเราก็ควรจะบีบอัดวีดีโอด้วยค่าบิตเรทและความละเอียดที่เหมาะสมกัน ซึ่งเราสามารถทำได้ตามใจชอบ แต่ถ้าหากจะทำการไรท์ลงแผ่นเพื่อนำไปเปิดดูในเครื่องเล่น VCD หรือ DVD แล้วนั้น เราจะต้องทำการบีบอัดให้เป็นไปตามมาตรฐานของสื่อชนิดนั้น หาไม่แล้วเราก็ไม่อาจเปิดดูได้ ยกเว้นว่าจะทำไฟล์วีดีโอเพื่อดูในคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเล่นไฟล์ ก็สามารถตั้งค่าได้อิสระไม่อิงข้อจำกัดใดๆ

หมายเหตุ !! การนำไฟล์ที่มีบิตเรทน้อยมาบีบอัดให้บิตเรทสูงขึ้น ถือเป็นการตีโป่งไฟล์
เราจะได้ไฟล์ที่ใหญ่ขึ้นแต่มีคุณภาพลดลง
โปรดจำไว้เสมอว่าทุกครั้งที่มีการบีบอัด ไม่ว่าจะตั้งค่าอย่างไร จะมีการเสียคุณภาพเสมอ

พื้นฐานระบบวีดีโอที่ต้องรู้ 1

หากแค่ถ่ายวีดีโอเล่น แล้วอัพขึ้นเว็บโซเชี่ยลทั่วไปก็คงไม่ต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ ถ่ายปุ๊บอัพขึ้นเว็บปั๊บ แต่ถ้าจริงจังอยากทำผลงานให้เหนือขึ้นไปอีก ก็ต้องมีการตัดต่อ ปรับแสงสี เพิ่มไตเติ้ล อะไรก็ว่าไปเพื่อให้น่าสนใจชาวโลกได้ชื่นชม พอมาถึงจุดนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับระบบวีดีโอเหล่านี้เสียก่อน ไม่งั้นขอบอกว่างานออกมาเละแน่ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

** ตอนแรกเขียนเอาไว้ทีเดียวเลย แต่เดี๋ยวจะยาวและมือใหม่อาจจะงงได้ เลยขอแบ่งเป็น 2 บทละกัน

ความละเอียด (Resolution)

คือขนาด กว้าง x สูง ของเฟรมวีดีโอ เช่น 720*576  (ซึ่งเป็นขนาดของ DVD ในระบบ PAL) โดยทั่วไปขนาด resolution ของวีดีโอจะมีดังนี้...

352*288
เป็นขนาดมาตรฐานของ VCD มีขนาดเล็กมาก และมีคุณภาพที่ต่ำ ปัจจุบันเลิกผลิตสื่อชนิดนี้แล้ว

SD (Standard Definition)

720*576 / 720*480
เป็นขนาดมาตรฐานของ DVD (ในระบบ PAL และ NTSC ตามลำดับ) ซึ่งความละเอียดระดับนี้ ถือว่าสูงสุดสำหรับเปิดดูในโทรทัศน์รุ่นเก่าแล้ว หากมากกว่านี้ก็จะไม่เห็นข้อแตกต่าง ปัจจุบันถือเป็นสื่อขั้นต่ำที่ยังมีการผลิตใช้กันทั่วไป

HD (High Definition)

1280*720
เป็นความละเอียดในระดับสูง เหมาะและสมควรที่จะดูกับจอทีวีแบบกว้าง หากทีวีเครื่องไหนที่มีความละเอียดหน้าจอเท่านี้ จะมีเขียนว่า HD Ready (คือพร้อมที่จะดู HD แล้วนะ) ปัจจุบันหากจะทำสื่อวีดีโอขึ้นมา ควรยึดความละเอียดนี้เป็นขั้นต่ำ

1440*1080
เป็นความละเอียดในระดับสูง เหมาะและสมควรที่จะดูกับจอทีวีแบบกว้าง 

FHD (Full High Definition)

1920*1080
เป็นความละเอียดในระดับสูงมาก เหมาะและสมควรที่จะดูกับจอทีวีแบบกว้าง

ภาพเปรียบเทียบความละเอียด

UHD (Ultra High Definition)
เป็นความละเอียดที่เกิน FHD ที่ว่า(เคย)ใหญ่สุด ไปแล้ว โดยจะแบ่งเป็น

2K มีความละเอียด  2048*1556
4K มีความละเอียด  3840*2160 

นอกจากเรื่อง Resolution แล้ว สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กันเลยคือ Pixel Ratio

คือสัดส่วนของพิกเซล โดยปกติจะเป็น 1:1 คือพิกเซลที่เป็นรูปจตุรัส เช่น ถ้าเราตั้งค่าไว้ 720*567 เราจะได้จำนวนพิกเซลเท่านี้ และได้ขนาดภาพในอัตราส่วน 4:3 (เป็นมาตรฐานของวีดีโอปกติ) แต่ถ้า pixel ratio อื่นๆ เช่น 1.33 อะไรแบบนี้ หากตั้งค่าไว้ที่ 720*576 เท่ากัน เราจะได้จำนวนพิกเซลตามนี้จริง แต่ได้ขนาดภาพในอัตราส่วน16:9 (มาตรฐานของวีดีโอจอกว้าง) ซึ่งจะมีผลต่อการทำวีดีโอแบบดีวีดี แต่หากจะทำเพื่อเป็นคลิบเปิดดูในคอมพิวเตอร์เฉยๆ ก็ควรตั้ง pixel ratio เป็น 1:1 เสมอ เราก็จะได้ขนาดวีดีโอ 1024*576 แทน เป็นต้น


 ภาพเปรียบเทียบ pixel ratio

เฟรมเรท (fram rate)

คือจำนวนภาพนิ่งต่อ 1 วินาที (frame per second หรือ fps ) ยิ่งมากยิ่งทำให้ภาพเคลื่อนไหวนุ่มนวล ไม่กระตุก ทั้งนี้จำนวนเฟรมจะถูกกำหนดมาจากกล้องวีดีโอเลย ดังนี้

24 fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้กับการฉายภาพยนตร์ในระบบฟิล์ม กล้องส่วนใหญ่ไม่ได้บันทึกภาพในจำนวนเฟรมนี้แบบ native แม้จะตั้งค่าให้เป็น 24 fps ได้ ก็จะไม่ได้เฟรมแท้มา

25 fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้กับระบบ PAL (ระบบฉายภาพที่ประเทศไทยและบางประเทศยังคงใช้อยู่)

29.97 / 30 fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้กับระบบ NTSC (ระบบฉายภาพที่ประเทศอื่นๆ ใช้อยู่)

60+ fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้สำหรับการทำภาพ Slow Motion

ภาพเปรียบเทียบ frame rate


ระบบแสกนภาพ

คือการนำเสนอภาพให้ขึ้นที่จอ มี 2 แบบด้วยกันดังนี้

interlace (ใช้ตัวย่อว่า i)

ระบบแสกนภาพแบบเส้นสลับเส้น คือใน 1 เฟรมจะประกอบไปด้วยการแสกนภาพ 2 field (1 field คือเส้นคู่ และอีก 1 field คือเส้นคี่ เส้นที่ว่านี่ก็คือ 1 บรรทัด pixel แนวนอนทั้งจอภาพ) เช่น field A จะแสกนเส้น 1, 3, 5, 7,..... ไปจนหมด field B จะแสกนเส้น 2, 4, 6 , 8,.... ไปจนหมด เมื่อทั้ง 2 field แสกนครบจะเป็น 1 เฟรม เป็นเทคโนโลยีเก่า และใช้มานานนมแล้ว ปกติจะใช้ในระบบโทรทัศน์ทั่วไปและระบบวีดีโอม้วนเทป จนกระทั่งดีวีดี (ดีวีดีบางระบบอาจเป็น Progressive แล้ว) การแสกนนี้มี 2 แบบคือ Upper field first และ lower field first (บางทีก็เรียก Top field กับ bottom field) หมายถึงเลือกว่าจะแสกน field เส้นคี่หรือเส้นคู่ก่อน ส่วนใหญ่ระบบวีดีโอ PAL จะเป็น lower field first และระบบ NTSC จะเป็น upper field first

เพราะความที่เป็นการแสกนเส้นสลับเส้นนี่เอง ทำให้ภาพจะไม่นิ่งคมชัด แต่จะเห็นเป็นรอยหยักๆ เหลื่อมๆ กัน ยิ่งภาพที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว จะยิ่งเห็นชัด และจะเห็นชัดมากๆ ถ้ากดหยุดภาพไว้ ในระบบเทปวีดีโอแบบเก่าเวลากด pause ภาพจะสั่นๆ แต่ถ้าเป็นดีวีดี ภาพจะนิ่งแต่เห็นเป็นเส้นหยักแทน นอกจากนั้นความละเอียดภาพแนวตั้งยังลดลงด้วย เช่น วีดีโอขนาด 1920x1080i คือมีความละเอียดแนวตั้งที่ 1080 pixel แต่ทว่าเป็น i ทำให้ 1 เฟรมจะโดนหั่นเหลือแค่ 540 pixel เท่านั้น ดังนั้นความคมชัดจะลดลง แต่อาจไม่เห็นชัดมาก ขึ้นอยู่กับภาพในวีดีโอด้วย

progressive (ใช้ตัวย่อว่า p)

ง่ายๆ สั้นๆ ว่า ใน 1 เฟรมก็จะมี 1 ภาพ ทุกเส้นจะแสกนต่อเนื่องกันจนครบ ทำให้ได้ความละเอียดเต็มที่ เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า
กล้องถ่ายวีดีโอในสมัยนี้เกือบทั้งหมดจะเป็นแบบ Progressive กันหมดแล้ว แม้แต่กล้องโทรศัพท์มือถือ ก็ยังถ่ายได้ 1080p เลยทีเดียว ก็จะได้ภาพที่คมชัดกว่ากล้องแบบ Interlaced อยู่พอสมควร นอกจากนั้นก็คงต้องวัดกันที่เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และการประมวลผลภาพของกล้องเองแล้วล่ะ ว่าใครจะเหนือกว่า

**Deinterlaced **
เป็นการใช้โปรแกรมช่วยแก้ไขสัญญาณภาพจาก Interlaced ให้ดูดีมีชาติตระกูล ลดรอยหยัก และดูเผินๆ ก็เหมือน Progressive แต่ทว่าก็ยังสู้ Progressive แท้ๆ ไม่ได้อยู่ดี การ Deinterlaced นั้นทำได้ในโปรแกรม Convert ไฟล์วีดีโอ โปรแกรมตัดต่อบางโปรแกรม และโปรแกรม Video Player บางตัวก็สามารถทำได้ (โดยที่ไม่ต้องแปลงไฟล์มาก่อน)


ภาพแสดงเปรียบเทียบระหว่าง interlace และ progressive


วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ใช้กล้องถ่ายวีดีโอแบบไหนดี


ปัจจุบัน เรามีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวพร้อมบันทึกเสียงได้สะดวกและรวดเร็วหลายอย่าง อีกทั้งราคาของอุปกรณ์เหล่านั้นก็ถือว่าถูกลงมากหากเทียบกับแต่ก่อน ฉะนั้น เรามาพิจารณากัน ว่ากล้องแบบไหนเหมาะกับอะไรยังไง

หลักการพิจารณากล้อง

ใช่ว่ามีทุนหนัก ซื้ออะไรก็ได้ แล้วจะจัดตัวท๊อปไว้ก่อนเป็นดี เพราะบางครั้งก็ไม่เหมาะกับสถานการณ์ เช่น เอากล้องใหญ่ตัวละ 2 แสน ติดกาวกับหมวกกันน็อค แล้วถ่ายตอนปั่นจักรยานเสือภูเขา แบบนั้นก็คงไม่เวิร์คแน่นอน ฉะนั้นมาดูตัวเลือกต่างๆ ดังนี้

ใช้งานจริงจัง รับงาน ทำงานมืออาชีพ

ถ้าคาดหวังเรื่องคุณภาพมากๆ แบบนี้ก็จัดกล้องตัวแพงไปเลย เพราะคุณภาพและประสิทธิภาพโดยรวมก็ต้องดีกว่ารุ่นถูกๆ แน่นอน ปัจจุบันมีทั้งกล้องวีดีโอและกล้อง DSLR ซึ่งใช้งานได้เหมือนกันและได้ไฟล์ที่มีคุณภาพดีทั้ง 2 แบบ เพียงแต่จุดเด่นและจุดด้อยของทั้ง 2 นั้นต่างกัน อีกทั้งภาพที่ได้จากกล้องวีดีโอโดยกำเนิด กับกล้อง DSLR ก็ไม่เหมือนกันด้วย ในเรื่องของมิติภาพ สีสัน อันมาจากปัจจัยทางเลนส์และเซ็นเซอร์ รวมถึงระบบออโต้โฟกัสอีกด้วย (แต่ปัจจุบันระบบออโต้โฟกัสของ DSLR ถูกพัฒนาขึ้นมากและใช้งานได้ดีจนใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับกล้องวีดีโอเลยทีเดียว)

ซึ่งการเลือกกล้องมาใช้งานนั้นอาจแบ่งตามลักษณะงานที่จะเอาไปใช้ได้ดังนี้

1. Videography คือ การถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือถ่ายวีดีโอนั่นเอง
2. Cinematography คือ การถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือถ่ายวีดีโอ ที่ให้ความรู้สึกคล้ายหรือเหมือนกับถ่ายภาพยนตร์

เอาจริงๆ คนที่ทำงานระดับมืออาชีพ ก็คงรู้วิธีการทำงานตัวเองอยู่แล้วอ่ะนะ

งานอดิเรก ฟรีแลนซ์เล็กน้อย

งานระดับนี้ ถ้ายังไม่มีทุนมาก ก็สามารถใช้กล้องวีดีโอในราคาระดับหมื่นกลางๆ ขึ้นไป หรือกล้อง DSLR ก็ยังได้ ให้คุณภาพที่ดีและไม่น่าเกลียด ยกเว้นถ้าเจอสภาพแสงน้อยๆ อาจต้องใช้กล้องที่มีคุณภาพเรื่องการขจัดสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ดี หากเป็นกล้องวีดีโอ ให้ดูสเป็คตรงส่วนของ lux เลขยิ่งน้อยยิ่งดี หมายถึงสามารถถ่ายภาพได้ในสภาพแสงน้อยมากๆ ได้ดี หากเป็น DSLR อันนี้มีปัจจัยด้านเซ็นเซอร์, ชิพประมวลผลและเลนส์ร่วมด้วย (แต่จำง่ายๆ ว่า กล้องแบบฟูลเฟรมจะถ่ายในสภาพแสงน้อยได้ดีกว่ากล้องแบบเซ็นเซอร์ตัวคูณ) ถ้ามีทุนเยอะหน่อย ก็จัดกล้องตัวแพงในระดับที่รับไหว ซัก 6-7 หมื่นขึ้นไป เอาตัวที่สามารถต่ออุปกรณ์เสริมได้ เพราะในบางทีเราอาจต้องใช้ หรือหากจะเอาให้คุ้ม ใช้กล้อง DSLR แบบฟูลเฟรมไปเลย เพราะถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในตัวเดียว แต่อย่าลืมว่า DSLR ไม่ใช่กล้องวีดีโอโดยตรง ควรพิจารณาเรื่องข้อจำกัดต่างๆ เผื่อไว้ด้วย !

ใช้งานบ้านๆ ถ่ายในครอบครัว

ใช้กล้องถ่ายวีดีโอราคาหลักพันก็ยังไหว (หมายถึงหลายพัน ไม่ใช่พันกว่าบาท) เพราะกล้องระดับนี้ในยุคสมัยนี้ก็สามารถถ่ายได้ความละเอียดระดับ Full HD กันแล้ว (แต่จะมีคุณภาพแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง) หรือจะเป็นกล้อง Mirror-less ก็ยังได้ (ได้คุณภาพพอๆ กับ DSLR แต่เล็กและเบากว่า ทำให้ง่ายต่อการจับถือ) แต่ไม่แนะนำกล้อง DSLR เพราะแม้กล้อง DSLR ในปัจจุบันจะถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอแล้วก็ตาม แต่การใช้กล้อง DSLR ถ่ายวีดีโอนั้น ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องฝึกฝนกันพอสมควรจึงจะใช้งานได้คล่อง ทั้งยังมีน้ำหนักที่เยอะ การจับถือก็ไม่ถนัดเท่ากล้องจำพวก Handycam หากไม่สันทัดการใช้กล้องลักษณะนี้มาก่อน หรือไม่ได้จริงจัง ก็แนะนำว่าไปใช้กล้องวีดีโอที่ถ่ายง่ายๆ จะดีกว่า (โทรศัพท์มือถือรุ่นสูงๆ ก็ถ่ายได้คุณภาพดีมากเช่นกัน แต่ต้องอยู่ในภาวะแสงที่เพียงพอด้วย)

ถ่ายเล่น ขำๆ ไม่จริงจัง

โทรศัพท์มือถือไปเลย สมัยนี้ราคาไม่ถึงหมื่นก็ถ่ายได้ในระดับ HD หรือ Full HD แล้ว แต่อย่าคาดหวังเรื่องคุณภาพ เพราะกล้องมือถือสามารถถ่ายในระดับดูเล่น ดูกันเอง โดยปกติแล้วไม่อาจใช้งานในระดับจริงจังได้ ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดทาง Hardware นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงการแนะนำคร่าวๆ ในความเป็นจริง ปัจจัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากกระเป๋าหนัก จะถอยกล้องรุ่นใหญ่มาถ่ายเล่นก็ได้ เพราะอาจจะชอบในแบรนด์หรือประสิทธิภาพ ไม่ได้คิดจะทำงานจริงจัง หรืออีกกรณีหนึ่ง หากมีโทรศัพท์มือถือระดับสูงที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายวีดีโอในระดับดีมาก ก็อาจนำมาใช้เป็นกล้องสองหรือกล้องสำรองในการทำงานได้เช่นกัน (ไม่ควรใช้เป็นกล้องหลัก เพราะมีผลทางด้านการควบคุมและภาพลักษณ์) ทั้งนี้ยังคงมีผู้ใช้บางคนพยามทำลายขีดจำกัดของกล้องจากโทรศัพท์มือถือ โดยการนำมาถ่ายภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณา ดังนั้นสรุปแล้วก็อยู่ที่ปัจจัยหลายๆ ด้านด้วยครับ

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โปรแกรมที่ใช้

จริงๆ แล้วการทำงานมัลติมีเดีย สามารถใช้โปรแกรม (หรือ Software ในที่นี้ขอเรียกว่าโปรแกรมละกัน) ได้หลากหลายตามสไตล์และความถนัด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โปรแกรมของค่าย Adobe นั้นสามารถตอบสนองเราได้เกือบจะครบครัน ขาดก็อีกนิดอีกหน่อยเท่านั้น แต่ก็ดีแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นทาง Adobe ได้ผูกขาดกันพอดี (นี่ก็กลืนวงการไปเยอะแล้ว) แต่ทางเรานั้นก็ไม่ได้ใช้เป็นและถนัดไปซะทุกโปรแกรม แถมแต่ละโปรแกรมก็ใช้เป็นมากน้อยไม่เท่ากันอีกด้วย จึงขอบอกถึงโปรแกรมที่เราใช้ ดังนี้...

โปรแกรมหลักที่ใช้บ่อยๆ (โดยส่วนตัว)

Adobe Photoshop
ของมันแน่อยู่แล้ว คงไม่มีงานกราฟิกใดออกสื่อไปได้ถ้าไม่ได้ใช้โปรแกรมตัวนี้ช่วย ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อมใดๆ ก็ตาม โปรแกรมนี้เราจะไว้ใช้ตัดรูป รีทัช วาดภาพ ระบายสี ย่อรูป ปรับแสงสี ใส่ข้อความ อะไรประมาณนี้


Adobe Illustrator
ใช้ทำกราฟิกแบบเวกเตอร์ หรือใช้มากในการวาดการ์ตูน การ์ตูนเวกเตอร์นั่นเอง



Adobe Premiere Pro
หลักๆ ใช้ในการตัดต่อวีดีโอ ทั้งการที่ถ่ายมาโดยตรง และนำเข้ามาจาก Afetr Effect อีกทีหนึ่ง รองๆ ก็ใช้ตัดเพลงทำ Ringtone โทรศัพท์อ่ะนะ (ใช้ผิดประเภท แต่ถนัดอ่ะ)


Adobe After Effect
โปรแกรมหลักๆ ในการทำ VFX หรือ Visual Effect เลยทีเดียว บางทีถ้าทำคลิบสั้นๆ ไม่มากนัก ก็จะทำเสร็จในนี้เลย ไม่ไปต่อใน Premiere ให้เสียเวลา


Adobe Audition
ใช้ในการจัดการเสียง หลักๆ ใช้อัดเสียง และลด Noise



Adobe Photoshop Lightroom
ถือเป็นโปรแกรมหลักในการปรับแต่งภาพถ่าย เวลาถ่ายภาพมาหลายๆ รูป ก็จะเปิดใน Lightroom แล้วปรับๆ เอาเลย ทั้งแบบ JPEG และ RAW


TMPGEnc Video Mastering Works
ใช้ในการแปลงไฟล์อย่างเดียว ทั้งก่อนและหลังตัดต่อ รวมถึงแปลงไฟล์วีดีโอเข้าไปดูในโทรศัพท์ด้วย



โปรแกรมที่เคยใช้ และเหินห่างมานานนัก

Adobe Flash
ไม่ได้ใช้มานานมากแล้ว ใช้ได้ก็แค่การขยับเล็กๆ น้อยๆ กับ Action Script แบบ Basic

Autodesk 3D Studio Max
ถือเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจและใช้ยาก แต่ก็ทำให้ได้งานออกมาสมจริง (ถ้าเก่งพอ) ด้วยความที่ไม่ได้จับมานาน และดูเหมือนจะไปไม่ไหวกับตัวนี้ เลยค่อยๆๆๆๆ ปล่อยผ่านไป

ทักทายและบทนำ

       บล็อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของเจ้าของบล็อกเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เยี่ยมชมทุกท่าน ในด้านการทำงานมัลติมีเดีย ซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำ Visual Effect หรือกระบวนการทำงานมัลติมีเดียในด้านต่างๆ ตั้งแต่พื้นฐานถึงปานกลาง ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่า คือการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุดหรือดีที่สุดแต่เสมอไป หากท่านใดมีวิธีการที่ดีกว่า หรือมีเนื้อหาที่ผิด สามารถโต้แย้งและแนะนำมาได้เสมอ
  • ถ้าท่านไม่รู้อะไรเลย หรือรู้น้อยมาก ท่านอาจเรียกเราเป็นอาจารย์
  • ถ้าท่านพอรู้มาบ้าง มีพื้นฐานในระดับหนึ่ง ท่านอาจเรียกเราเป็นพี่ติว
  • ถ้าท่านรู้ใกล้เคียงกับเรา แต่รู้กันคนละส่วน ท่านคือเพื่อนที่แลกเปลี่ยนความรู้ แนะนำกัน
  • แต่ถ้าท่านรู้มากกว่าเรา เราก็จะเรียกท่านเป็นพี่ติว หรืออาจารย์
 May the force be with you...