ปัจจุบัน เรามีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวพร้อมบันทึกเสียงได้สะดวกและรวดเร็วหลายอย่าง อีกทั้งราคาของอุปกรณ์เหล่านั้นก็ถือว่าถูกลงมากหากเทียบกับแต่ก่อน ฉะนั้น เรามาพิจารณากัน ว่ากล้องแบบไหนเหมาะกับอะไรยังไง
หลักการพิจารณากล้อง
ใช่ว่ามีทุนหนัก ซื้ออะไรก็ได้ แล้วจะจัดตัวท๊อปไว้ก่อนเป็นดี เพราะบางครั้งก็ไม่เหมาะกับสถานการณ์ เช่น เอากล้องใหญ่ตัวละ 2 แสน ติดกาวกับหมวกกันน็อค แล้วถ่ายตอนปั่นจักรยานเสือภูเขา แบบนั้นก็คงไม่เวิร์คแน่นอน ฉะนั้นมาดูตัวเลือกต่างๆ ดังนี้
ใช้งานจริงจัง รับงาน ทำงานมืออาชีพ
ซึ่งการเลือกกล้องมาใช้งานนั้นอาจแบ่งตามลักษณะงานที่จะเอาไปใช้ได้ดังนี้
1. Videography คือ การถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือถ่ายวีดีโอนั่นเอง
2. Cinematography คือ การถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือถ่ายวีดีโอ ที่ให้ความรู้สึกคล้ายหรือเหมือนกับถ่ายภาพยนตร์
เอาจริงๆ คนที่ทำงานระดับมืออาชีพ ก็คงรู้วิธีการทำงานตัวเองอยู่แล้วอ่ะนะ
งานอดิเรก ฟรีแลนซ์เล็กน้อย
งานระดับนี้ ถ้ายังไม่มีทุนมาก ก็สามารถใช้กล้องวีดีโอในราคาระดับหมื่นกลางๆ ขึ้นไป หรือกล้อง DSLR ก็ยังได้ ให้คุณภาพที่ดีและไม่น่าเกลียด ยกเว้นถ้าเจอสภาพแสงน้อยๆ อาจต้องใช้กล้องที่มีคุณภาพเรื่องการขจัดสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ดี หากเป็นกล้องวีดีโอ ให้ดูสเป็คตรงส่วนของ lux เลขยิ่งน้อยยิ่งดี หมายถึงสามารถถ่ายภาพได้ในสภาพแสงน้อยมากๆ ได้ดี หากเป็น DSLR อันนี้มีปัจจัยด้านเซ็นเซอร์, ชิพประมวลผลและเลนส์ร่วมด้วย (แต่จำง่ายๆ ว่า กล้องแบบฟูลเฟรมจะถ่ายในสภาพแสงน้อยได้ดีกว่ากล้องแบบเซ็นเซอร์ตัวคูณ) ถ้ามีทุนเยอะหน่อย ก็จัดกล้องตัวแพงในระดับที่รับไหว ซัก 6-7 หมื่นขึ้นไป เอาตัวที่สามารถต่ออุปกรณ์เสริมได้ เพราะในบางทีเราอาจต้องใช้ หรือหากจะเอาให้คุ้ม ใช้กล้อง DSLR แบบฟูลเฟรมไปเลย เพราะถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในตัวเดียว แต่อย่าลืมว่า DSLR ไม่ใช่กล้องวีดีโอโดยตรง ควรพิจารณาเรื่องข้อจำกัดต่างๆ เผื่อไว้ด้วย !
ใช้งานบ้านๆ ถ่ายในครอบครัว
ใช้กล้องถ่ายวีดีโอราคาหลักพันก็ยังไหว (หมายถึงหลายพัน ไม่ใช่พันกว่าบาท) เพราะกล้องระดับนี้ในยุคสมัยนี้ก็สามารถถ่ายได้ความละเอียดระดับ Full HD กันแล้ว (แต่จะมีคุณภาพแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง) หรือจะเป็นกล้อง Mirror-less ก็ยังได้ (ได้คุณภาพพอๆ กับ DSLR แต่เล็กและเบากว่า ทำให้ง่ายต่อการจับถือ) แต่ไม่แนะนำกล้อง DSLR เพราะแม้กล้อง DSLR ในปัจจุบันจะถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอแล้วก็ตาม แต่การใช้กล้อง DSLR ถ่ายวีดีโอนั้น ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องฝึกฝนกันพอสมควรจึงจะใช้งานได้คล่อง ทั้งยังมีน้ำหนักที่เยอะ การจับถือก็ไม่ถนัดเท่ากล้องจำพวก Handycam หากไม่สันทัดการใช้กล้องลักษณะนี้มาก่อน หรือไม่ได้จริงจัง ก็แนะนำว่าไปใช้กล้องวีดีโอที่ถ่ายง่ายๆ จะดีกว่า (โทรศัพท์มือถือรุ่นสูงๆ ก็ถ่ายได้คุณภาพดีมากเช่นกัน แต่ต้องอยู่ในภาวะแสงที่เพียงพอด้วย)
ถ่ายเล่น ขำๆ ไม่จริงจัง
โทรศัพท์มือถือไปเลย สมัยนี้ราคาไม่ถึงหมื่นก็ถ่ายได้ในระดับ HD หรือ Full HD แล้ว แต่อย่าคาดหวังเรื่องคุณภาพ เพราะกล้องมือถือสามารถถ่ายในระดับดูเล่น ดูกันเอง โดยปกติแล้วไม่อาจใช้งานในระดับจริงจังได้ ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดทาง Hardware นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงการแนะนำคร่าวๆ ในความเป็นจริง ปัจจัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากกระเป๋าหนัก จะถอยกล้องรุ่นใหญ่มาถ่ายเล่นก็ได้ เพราะอาจจะชอบในแบรนด์หรือประสิทธิภาพ ไม่ได้คิดจะทำงานจริงจัง หรืออีกกรณีหนึ่ง หากมีโทรศัพท์มือถือระดับสูงที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายวีดีโอในระดับดีมาก ก็อาจนำมาใช้เป็นกล้องสองหรือกล้องสำรองในการทำงานได้เช่นกัน (ไม่ควรใช้เป็นกล้องหลัก เพราะมีผลทางด้านการควบคุมและภาพลักษณ์) ทั้งนี้ยังคงมีผู้ใช้บางคนพยามทำลายขีดจำกัดของกล้องจากโทรศัพท์มือถือ โดยการนำมาถ่ายภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณา ดังนั้นสรุปแล้วก็อยู่ที่ปัจจัยหลายๆ ด้านด้วยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น