วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พื้นฐานระบบวีดีโอที่ต้องรู้ 1

หากแค่ถ่ายวีดีโอเล่น แล้วอัพขึ้นเว็บโซเชี่ยลทั่วไปก็คงไม่ต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ ถ่ายปุ๊บอัพขึ้นเว็บปั๊บ แต่ถ้าจริงจังอยากทำผลงานให้เหนือขึ้นไปอีก ก็ต้องมีการตัดต่อ ปรับแสงสี เพิ่มไตเติ้ล อะไรก็ว่าไปเพื่อให้น่าสนใจชาวโลกได้ชื่นชม พอมาถึงจุดนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับระบบวีดีโอเหล่านี้เสียก่อน ไม่งั้นขอบอกว่างานออกมาเละแน่ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

** ตอนแรกเขียนเอาไว้ทีเดียวเลย แต่เดี๋ยวจะยาวและมือใหม่อาจจะงงได้ เลยขอแบ่งเป็น 2 บทละกัน

ความละเอียด (Resolution)

คือขนาด กว้าง x สูง ของเฟรมวีดีโอ เช่น 720*576  (ซึ่งเป็นขนาดของ DVD ในระบบ PAL) โดยทั่วไปขนาด resolution ของวีดีโอจะมีดังนี้...

352*288
เป็นขนาดมาตรฐานของ VCD มีขนาดเล็กมาก และมีคุณภาพที่ต่ำ ปัจจุบันเลิกผลิตสื่อชนิดนี้แล้ว

SD (Standard Definition)

720*576 / 720*480
เป็นขนาดมาตรฐานของ DVD (ในระบบ PAL และ NTSC ตามลำดับ) ซึ่งความละเอียดระดับนี้ ถือว่าสูงสุดสำหรับเปิดดูในโทรทัศน์รุ่นเก่าแล้ว หากมากกว่านี้ก็จะไม่เห็นข้อแตกต่าง ปัจจุบันถือเป็นสื่อขั้นต่ำที่ยังมีการผลิตใช้กันทั่วไป

HD (High Definition)

1280*720
เป็นความละเอียดในระดับสูง เหมาะและสมควรที่จะดูกับจอทีวีแบบกว้าง หากทีวีเครื่องไหนที่มีความละเอียดหน้าจอเท่านี้ จะมีเขียนว่า HD Ready (คือพร้อมที่จะดู HD แล้วนะ) ปัจจุบันหากจะทำสื่อวีดีโอขึ้นมา ควรยึดความละเอียดนี้เป็นขั้นต่ำ

1440*1080
เป็นความละเอียดในระดับสูง เหมาะและสมควรที่จะดูกับจอทีวีแบบกว้าง 

FHD (Full High Definition)

1920*1080
เป็นความละเอียดในระดับสูงมาก เหมาะและสมควรที่จะดูกับจอทีวีแบบกว้าง

ภาพเปรียบเทียบความละเอียด

UHD (Ultra High Definition)
เป็นความละเอียดที่เกิน FHD ที่ว่า(เคย)ใหญ่สุด ไปแล้ว โดยจะแบ่งเป็น

2K มีความละเอียด  2048*1556
4K มีความละเอียด  3840*2160 

นอกจากเรื่อง Resolution แล้ว สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กันเลยคือ Pixel Ratio

คือสัดส่วนของพิกเซล โดยปกติจะเป็น 1:1 คือพิกเซลที่เป็นรูปจตุรัส เช่น ถ้าเราตั้งค่าไว้ 720*567 เราจะได้จำนวนพิกเซลเท่านี้ และได้ขนาดภาพในอัตราส่วน 4:3 (เป็นมาตรฐานของวีดีโอปกติ) แต่ถ้า pixel ratio อื่นๆ เช่น 1.33 อะไรแบบนี้ หากตั้งค่าไว้ที่ 720*576 เท่ากัน เราจะได้จำนวนพิกเซลตามนี้จริง แต่ได้ขนาดภาพในอัตราส่วน16:9 (มาตรฐานของวีดีโอจอกว้าง) ซึ่งจะมีผลต่อการทำวีดีโอแบบดีวีดี แต่หากจะทำเพื่อเป็นคลิบเปิดดูในคอมพิวเตอร์เฉยๆ ก็ควรตั้ง pixel ratio เป็น 1:1 เสมอ เราก็จะได้ขนาดวีดีโอ 1024*576 แทน เป็นต้น


 ภาพเปรียบเทียบ pixel ratio

เฟรมเรท (fram rate)

คือจำนวนภาพนิ่งต่อ 1 วินาที (frame per second หรือ fps ) ยิ่งมากยิ่งทำให้ภาพเคลื่อนไหวนุ่มนวล ไม่กระตุก ทั้งนี้จำนวนเฟรมจะถูกกำหนดมาจากกล้องวีดีโอเลย ดังนี้

24 fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้กับการฉายภาพยนตร์ในระบบฟิล์ม กล้องส่วนใหญ่ไม่ได้บันทึกภาพในจำนวนเฟรมนี้แบบ native แม้จะตั้งค่าให้เป็น 24 fps ได้ ก็จะไม่ได้เฟรมแท้มา

25 fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้กับระบบ PAL (ระบบฉายภาพที่ประเทศไทยและบางประเทศยังคงใช้อยู่)

29.97 / 30 fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้กับระบบ NTSC (ระบบฉายภาพที่ประเทศอื่นๆ ใช้อยู่)

60+ fps
เป็นจำนวนเฟรมที่ใช้สำหรับการทำภาพ Slow Motion

ภาพเปรียบเทียบ frame rate


ระบบแสกนภาพ

คือการนำเสนอภาพให้ขึ้นที่จอ มี 2 แบบด้วยกันดังนี้

interlace (ใช้ตัวย่อว่า i)

ระบบแสกนภาพแบบเส้นสลับเส้น คือใน 1 เฟรมจะประกอบไปด้วยการแสกนภาพ 2 field (1 field คือเส้นคู่ และอีก 1 field คือเส้นคี่ เส้นที่ว่านี่ก็คือ 1 บรรทัด pixel แนวนอนทั้งจอภาพ) เช่น field A จะแสกนเส้น 1, 3, 5, 7,..... ไปจนหมด field B จะแสกนเส้น 2, 4, 6 , 8,.... ไปจนหมด เมื่อทั้ง 2 field แสกนครบจะเป็น 1 เฟรม เป็นเทคโนโลยีเก่า และใช้มานานนมแล้ว ปกติจะใช้ในระบบโทรทัศน์ทั่วไปและระบบวีดีโอม้วนเทป จนกระทั่งดีวีดี (ดีวีดีบางระบบอาจเป็น Progressive แล้ว) การแสกนนี้มี 2 แบบคือ Upper field first และ lower field first (บางทีก็เรียก Top field กับ bottom field) หมายถึงเลือกว่าจะแสกน field เส้นคี่หรือเส้นคู่ก่อน ส่วนใหญ่ระบบวีดีโอ PAL จะเป็น lower field first และระบบ NTSC จะเป็น upper field first

เพราะความที่เป็นการแสกนเส้นสลับเส้นนี่เอง ทำให้ภาพจะไม่นิ่งคมชัด แต่จะเห็นเป็นรอยหยักๆ เหลื่อมๆ กัน ยิ่งภาพที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว จะยิ่งเห็นชัด และจะเห็นชัดมากๆ ถ้ากดหยุดภาพไว้ ในระบบเทปวีดีโอแบบเก่าเวลากด pause ภาพจะสั่นๆ แต่ถ้าเป็นดีวีดี ภาพจะนิ่งแต่เห็นเป็นเส้นหยักแทน นอกจากนั้นความละเอียดภาพแนวตั้งยังลดลงด้วย เช่น วีดีโอขนาด 1920x1080i คือมีความละเอียดแนวตั้งที่ 1080 pixel แต่ทว่าเป็น i ทำให้ 1 เฟรมจะโดนหั่นเหลือแค่ 540 pixel เท่านั้น ดังนั้นความคมชัดจะลดลง แต่อาจไม่เห็นชัดมาก ขึ้นอยู่กับภาพในวีดีโอด้วย

progressive (ใช้ตัวย่อว่า p)

ง่ายๆ สั้นๆ ว่า ใน 1 เฟรมก็จะมี 1 ภาพ ทุกเส้นจะแสกนต่อเนื่องกันจนครบ ทำให้ได้ความละเอียดเต็มที่ เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า
กล้องถ่ายวีดีโอในสมัยนี้เกือบทั้งหมดจะเป็นแบบ Progressive กันหมดแล้ว แม้แต่กล้องโทรศัพท์มือถือ ก็ยังถ่ายได้ 1080p เลยทีเดียว ก็จะได้ภาพที่คมชัดกว่ากล้องแบบ Interlaced อยู่พอสมควร นอกจากนั้นก็คงต้องวัดกันที่เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และการประมวลผลภาพของกล้องเองแล้วล่ะ ว่าใครจะเหนือกว่า

**Deinterlaced **
เป็นการใช้โปรแกรมช่วยแก้ไขสัญญาณภาพจาก Interlaced ให้ดูดีมีชาติตระกูล ลดรอยหยัก และดูเผินๆ ก็เหมือน Progressive แต่ทว่าก็ยังสู้ Progressive แท้ๆ ไม่ได้อยู่ดี การ Deinterlaced นั้นทำได้ในโปรแกรม Convert ไฟล์วีดีโอ โปรแกรมตัดต่อบางโปรแกรม และโปรแกรม Video Player บางตัวก็สามารถทำได้ (โดยที่ไม่ต้องแปลงไฟล์มาก่อน)


ภาพแสดงเปรียบเทียบระหว่าง interlace และ progressive


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น