วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พื้นฐานระบบวีดีโอที่ต้องรู้ 2

มาต่อกันเลย ในส่วนนี้จะค่อนข้างซับซ้อนขึ้นอีกนิด เหมาะสำหรับกระบวนการตัดต่อและพร้อมจะเรนเดอร์ออกมาเป็นผลงานแล้ว
  
การบีบอัด (Encode)

เนื่องจากกล้องถ่ายวีดีโอหรือกล้องที่ถ่ายวีดีโอได้ โดยเกือบทั้งหมดแล้วจะมีการบีบอัดมาจากตัวกล้องก่อนเสมอ นอกจากกล้องในระดับบนๆ ที่มีฟังก์ชั่นถ่ายออกมาเป็นไฟล์ดิบ (ไฟล์ RAW) ได้ ทั้งนี้เพราะการที่จะบันทึกเป็นไฟล์ดิบ จะต้องใช้พื้นที่จัดเก็บจำนวนมาก เพราะกล้องจะบันทึกทุกสิ่งที่กล้องเห็นโดยไม่ผ่านการตัดข้อมูลบางส่วนออกเลย ดังนั้นกล้องในระดับทั่วไปจึงไม่มีฟังก์ชั่นนี้เพราะไม่จำเป็นกับผู้ใช้นั่นเอง


การบีบอัด คือการนำไฟล์ต้นฉบับมาแปลงรหัสวีดีโอใหม่ เพื่อลดขนาดไฟล์หรือเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้

ครานี้ พอมีการบีบอัด ก็ต้องมาทำความรู้จักกันอีก ว่าบีบอัด (Encode) ด้วยรหัส (Codec) อะไร และแต่ละแบบมันต่างกันอย่างไร (ขออธิบายเฉพาะอันที่ฮิตๆ กันนะ)

Codec (รหัสวีดีโอ)

DV AVI (AVI)
เป็น Codec ที่ใช้กับสมัยม้วนเทป MiniDV เมื่อ Capture จากม้วนเทปมาลงคอมพิวเตอร์แล้ว จะต้องใช้ไฟล์รหัสนี้ ซึ่งจะล็อคค่าต่างๆ ไว้โดยไม่สามารถแก้ไขได้ วีดีโอความยาว 1 ชั่วโมงจะใช้เนื้อที่ประมาณ 12 GB จะได้ไฟล์ AVI Resolution 720*576 ที่ 25 fps และ Bit rate ที่ 25 Mbps เสมอ แต่เดิมใช้ไฟล์นี้เป็นต้นฉบับในการตัดต่อก่อนเรนเดอร์ออกมาเป็น VCD, DVD

MPEG-1 (MPG)
เป็น Codec โบราณกาล ใช้ใน VCD ให้คุณภาพต่ำ ใช้เนื้อที่มาก ปัจจุบันไม่ควรใช้อย่างยิ่ง


MPEG-2 (M2V, MTS)
เป็น Codec ที่พัฒนาขึ้นมา ใช้ใน DVD และกล้อง HDV บางรุ่น ให้คุณภาพสูงขึ้น ใช้เนื้อที่ค่อนข้างมาก

MPEG-3 (MP3)
จะเป็นแต่ส่วนของเสียง ก็คือไฟล์ .mp3 ที่เป็นไฟล์เพลงที่เราฟังกันนั่นเอง ใช้เนื้อที่น้อยและมีคุณภาพดี (ขึ้นกับค่าบิตเรทด้วย)


MPEG-4
เป็น Codec  ที่มีหลายส่วนแยกกันพัฒนา ทำให้ได้ส่วนที่แตกย่อยไปอีก เช่น DivX, Xvid สำหรับส่วนที่เป็นเสียงก็มี m4a, AAC, mp4  ใช้เนื้อที่น้อยและมีคุณภาพดี (ขึ้นกับค่าบิตเรทด้วย)

H.264
จริงๆ แล้วเป็นส่วนที่พัฒนาต่อยอด แต่ยังอยู่ภายใต้ MPEG-4 เป็น Codec ล่าสุดที่มีประสิทธิภาพ ให้ภาพและเสียงที่มีคุณภาพสูงและใช้เนื้อที่น้อย

** Codec ที่ดี คือให้คุณภาพของภาพและเสียงที่ดี ในขณะที่ใช้ขนาดไฟล์น้อย
และ Codec ที่ซ้บซ้อนมาก จะใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ในการคำนวณมากขึ้นด้วย **

Container (นามสกุลไฟล์)

3GP
เป็นไฟล์จากโทรศัพท์มือถือระดับล่าง ให้คุณภาพต่ำ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทำอะไรนอกจากดูเล่น ไฟล์มักมีขนาดเล็ก

AVI
เป็นไฟล์วีดีโอมาตรฐานของ Microsoft  สามารถบีบอัดด้วย Codec ได้หลายแบบ  ไฟล์มีขนาดใหญ่ เหมาะที่จะเป็นไฟล์ต้นฉบับในการนำมาตัดต่อ แต่ไม่เหมาะในการเผยแพร่

MOV
เป็นไฟล์วีดีโอมาตรฐานของ Apple สามารถบีบอัดด้วย Codec ได้หลายแบบ ไฟล์มีขนาดใหญ่

WMV
เป็นไฟล์วีดีโอมาตรฐานของ Windows เช่นกัน นิยมใช้เผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีระบบ Streaming (คือโหลดไปดูไป ไม่จำเป็นต้องโหลดให้เสร็จทั้งหมดจึงดูได้) ปัจจุบันเหมือนจะเสื่อมความนิยมลงไป และอาจมีปัญหากับบางโปรแกรมที่ใช้งาน

MKV
เป็นไฟล์ที่คอดูหนังต้องรู้จักดี ไฟล์นี้มีคุณสมบัติที่สามารถบันทึกเสียงได้หลายแทร็ค รวมถึงซับไตเติ้ลได้อีกหลายภาษา รวมถึงยังคงคุณภาพที่ดีแม้จะใช้บิตเรทที่น้อย แต่เล่นได้ในบางเครื่องเท่านั้น จึงไม่เหมาะในการเผยแพร่ (นอกจากในวงการคอหนังเท่านั้น)

FLV
เป็นไฟล์ที่บีบอัดจากโปรแกรม Flash นิยมใช้ดูผ่านทางเว็บ เพราะมีเนื้อที่น้อย แต่คุณภาพก็ต่ำลงด้วยเช่นกัน มีระบบ Streaming (คือโหลดไปดูไป ไม่จำเป็นต้องโหลดให้เสร็จทั้งหมดจึงดูได้) 


ประเภทของการบีบอัด

การที่เราจะเจอประเภทของการบีบอัด ก็ต่อเมื่อเรากำลังจะ Export หรือ Render ไฟล์งานออกมาเป็นไฟล์วีดีโอ ซึ่งก็ต้องผ่านขั้นตอนการตัดต่อไปเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดมีดังนี้

CBR
เป็นการบีบอัดแบบ Constant Bitrate ซึ่งจะใช้ Bitrate เดียวกันตลอดช่วง

VBR
เป็นการบีบอัดแบบ Variable Bitrate จะใช้ Bitrate ไม่เท่ากัน แล้วแต่ช่วง สามารถเลือกได้ว่าจะให้โปรแกรมทำการบีบอัดกี่รอบ (คล้ายๆ อ่านหนังสือทบทวนหลายรอบเพื่อสรุปใจความสำคัญ) ยิ่งหลายรอบคุณภาพจะยิ่งดีกว่า แต่ก็จะเสียเวลาเพิ่มขึ้นมาก

ค่าบิตเรท (bit rate)

ค่าบิตเรทคือตัวกำหนดคุณภาพและขนาดไฟล์ของวีดีโอเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเลือการบีบอัดเป็นรหัสอะไร ก็ต้องกำหนดค่าบิตเรทเสมอ ค่าบิตเรทนี้จะต้องสัมพันธ์กับขนาดความละเอียดวีดีโอ (Resolution) ด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลดังนี้

ความละเอียดสูง บิตเรทต่ำ
จะทำให้วีดีโอภาพแตกเป็นเหลี่ยมๆ เนื่องจากค่าบิตเรทต่อหน่วยนั้นต่ำ

ความละเอียดสูง บิตเรทสูง
จะทำให้วีดีโอมีความชัดสวยงาม แต่มีขนาดไฟล์ใหญ่ (เป็นธรรมดาของโลก)

ความละเอียดต่ำ บิตเรทสูง
ถ้าดูด้วยหน้าจอที่มีความละเอียดสัมพันธ์กันก็คือชัด แต่ถ้าขยายขึ้นมามากๆ ภาพจะเบลอ ไม่ชัด และมีขนาดไฟล์ใหญ่เกินจำเป็นด้วย

ความละเอียดต่ำ บิตเรทต่ำ
ขึ้นอยู่กับว่าบิตเรทต่ำแค่ไหน ถ้าต่ำไม่มาก เมื่อดูในหน้าจอที่สัมพันธ์กับความละเอียดวีดีโอแล้วอาจดูชัดได้ ถ้าภาพมีการเคลื่อนไหวน้อย แต่ถ้าต่ำมากๆ ดูยังไงภาพก็เละ

ฉะนั้นเราก็ควรจะบีบอัดวีดีโอด้วยค่าบิตเรทและความละเอียดที่เหมาะสมกัน ซึ่งเราสามารถทำได้ตามใจชอบ แต่ถ้าหากจะทำการไรท์ลงแผ่นเพื่อนำไปเปิดดูในเครื่องเล่น VCD หรือ DVD แล้วนั้น เราจะต้องทำการบีบอัดให้เป็นไปตามมาตรฐานของสื่อชนิดนั้น หาไม่แล้วเราก็ไม่อาจเปิดดูได้ ยกเว้นว่าจะทำไฟล์วีดีโอเพื่อดูในคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเล่นไฟล์ ก็สามารถตั้งค่าได้อิสระไม่อิงข้อจำกัดใดๆ

หมายเหตุ !! การนำไฟล์ที่มีบิตเรทน้อยมาบีบอัดให้บิตเรทสูงขึ้น ถือเป็นการตีโป่งไฟล์
เราจะได้ไฟล์ที่ใหญ่ขึ้นแต่มีคุณภาพลดลง
โปรดจำไว้เสมอว่าทุกครั้งที่มีการบีบอัด ไม่ว่าจะตั้งค่าอย่างไร จะมีการเสียคุณภาพเสมอ

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ13 มีนาคม 2559 เวลา 17:05

    อาจารย์ผมสงสัยอย่าง เวลารันเดอร์งานไฟล์ตัดต่อ ขนาดผมเลือกชนิดไฟล์ avi แต่พอมาดูที่หลังกลับพบว่าดูไม่ได้เรื่องเลย เป็นอะไรอะไรครับ

    ตอบลบ